สสว. ผนึกกำลัง สอวช. เปิดตัว “โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG” มุ่งยกระดับผู้ประกอบการ 1 พันรายทั่วประเทศ และสร้างเกณฑ์ SME BCG เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน MSME ด้วยการใช้โมเดล BCG ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ผู้ประกอบการมากกว่า 2,500 ล้านบาท

และยังมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทักษะขั้นสูงที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อพัฒนาแรงงานทักษะสูง ให้มีองค์ความรู้ ความสามารถ กล้าที่จะนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในขั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับทุนดั้งเดิมที่มีอยู่

เศรษฐศาสตร์

สำหรับปี 2566 แผนงานแผนพัฒนาผู้ประกอบการ MSME จำนวน 1,000 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้

การพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้คลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา รวมถึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่
สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG
ยกระดับรายได้ด้วยการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ผ่านการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าให้มีชั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น สู่มาตรฐานผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากล ทั้งยังสร้างและพัฒนากำลังคนให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง
“เดิมทีประเทศไทยผลิตวัตถุดิบส่งออก แต่ยังขาดเรื่องของนำไปพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรม ซึ่งสินค้าที่ถูกพัฒนาจะเพิ่มมูลค่าหมุนเวียนภายในประเทศอีกเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น การปลูกมังคุดแล้วนำไปสกัดเป็นสารบริสุทธิ์ เพื่อให้นักลงทุนได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สร้างมูลค่าได้หลักร้อยล้าน เราต้องทำเป้าหมายตรงนี้ให้บรรลุถึงจะสามารถก้าวกระโดดไปสู่ตลาดโลกได้”

ด้านกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวที่ผ่านมาสสว. และ สอวช. มีการทำงานนร่วมกัน เช่น การทำวิจัยนโยบายร่วมกับเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT)

เพื่อออกแบบการใช้ตัวชี้วัด กรอบการประเมิน กรอบเชิงโครงสร้างหน่วยงานที่จะมาสนับสนุน และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในลักษณะขั้นบันไดการพัฒนา ซึ่งการทำงานจะออกแบบให้ครอบคลุมทั้ง การกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะปรับตัวธุรกิจ การดำเนินงาน BCG และการสร้างความสามารถในการปรับตัวรับโอกาสได้

ปริวรรตน์ คณากัมพลสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเรื่องการนำระบบนิเวศมาพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรมสร้างมูลค่ามหาศาล กล่าวคือ การนำมะเขือเทศมาแปรรูปเป็นน้ำมะเขือเทศหลากหลายรสชาติ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้

ซึ่ง ปริวรรตน์ อธิบายว่า MSME คือห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและช่วยเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจดังกล่าว เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และเกิดเม็ดเงินไหลเวียนภายในประเทศ

ด้วยการให้เงินงบประมาณ เงินจากกองทุนต่าง ๆ และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในประเทศ ให้มีองค์ความรู้ ไอเดียใหม่ ๆ พร้อมจะสเกลอัปธุรกิจของตนเองสู่ตลาด โดยโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG ในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก ๆ เพราะจะเป็นแรงสนับสนุนทำให้ผู้ประกอบการนั้นเดินหน้าต่อไปได้