‘ทวิดา’ ปลุกฟังก์ชั่นในตัวคนชรา เตรียมแผนปรับระบบ ยกระดับคุณภาพชีวิต ให้พร้อมรับสังคมสูงวัย

ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้าน ผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและผู้แทนจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม

สังคม

รศ.ทวิดากล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานครเองก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในบางพื้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ รวมถึงการที่มีผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลค่อนข้างมาก

“หากให้พูดตรงๆ ทรัพยากรของกรุงเทพมหานครนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมทำงานให้ครบวงจร และถึงเวลาที่ต้องมาดูว่างานทั้งหมดคืออะไรและอย่าทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่ต้องไม่มีช่องว่างระหว่างกัน แล้วทำให้งานนั้นมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมากขึ้น ในที่สุดก็จะย้อนกลับไปตามที่ท่านผู้ว่าฯ กล่าวว่าทำอย่างไรเราจะทำงานน้อยลง แต่ได้ผลงานมากขึ้น ความหมายคือเราใช้เวลาและการออกแบบการทำงานให้มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้เรื่องผู้สูงอายุถูกขับเคลื่อน ทั้งด้วยสถานการณ์ ทั้งด้วยสถานะ ที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานครและจุดมุ่งเน้น ครั้งนี้เราอยากให้จุดมุ่งเน้นไปถึงนโยบายท่านผู้ว่าฯ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่พยายามทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขายังมีฟังก์ชั่นอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องของเศรษฐกิจสังคมในการทำให้เราแข็งแรงขึ้น และต้องขยายไปถึงการทำให้ปฏิสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับคนกลุ่มอื่นในสังคมลื่นไหลไปด้วยกัน” รศ.ทวิดากล่าว

สำหรับการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีวิสัยทัศน์คือ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลังของสังคม” ประกอบด้วย 3 แผนปฏิบัติการย่อย คือ การเตรียมความพร้อมของวัยก่อนสูงอายุ การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการบริหารและส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งมีเป้าหมายรวม 25 เป้าหมาย โดยในบางเป้าหมาย อาทิ ชุมชนมีระบบป้องกันสาธารณภัยสำหรับผู้สูงอายุ

รศ.ทวิดา ได้แนะนำว่าการทำงานยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ในการทำให้เกิดผลนั้นต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันหลายฝ่าย ในการนำเสนอแผนการทำงานอีกส่วนคือการปฏิบัติตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านผู้สูงอายุ จำนวน 5 นโยบาย คือ 1. อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) 2. ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ 3. คลังปัญญาผู้สูงอายุ 4. หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine 5. ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ โดยใน 5 นโยบายนี้ รศ.ทวิดา เน้นย้ำเรื่อง Telemedicine เป็นพิเศษ โดยจำเป็นต้องมีการสื่อสารและจัดทำเส้นทางการให้บริการกับผู้ป่วย พร้อมกับการพัฒนาอุปกรณ์ เทคโนโลยี เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบ และเกิดการใช้บริการ telemedicine อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเชื่อมโยงกับนโยบายโรงพยาบาล 10,000 เตียงของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เช่นกัน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้หารือในวาระเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อกำกับ ติดตามและประเมินผลตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง และแผนด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการฯ แบ่งเป็น 3 คณะ ตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) โดยจะได้มีการหารือถึงผลการทำงานจากการประชุมในครั้งต่อไป